วัดคูยาง พระอารามหลวง
วัดคูยาง พระอารามหลวง เป็นวัดหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่เลขที่ ๒๗ ถนนราชดำเนิน ซอย ๓ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร จังหวัดกำแพงเพชร ปัจจุบันมีพระธรรมภาณพิลาส เจ้าคณะจังหวัดกำแพงเพชร เป็นเจ้าอาวาส สภาพเดิมเป็นวัดเก่าแก่แต่ครั้งโบราณกาล มีรากฐานอุโบสถ และแท่นพระประธาน ก่อด้วยศิลาแลงหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ตั้งอยู่บริเวณวัดด้านเหนือ สภาพเดิมเป็นวัดเก่าแก่ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าชื่อวัดอะไร ใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยไหน แต่มีผู้สันนิษฐานว่าสร้างมาแล้วไม่น้อยกว่า ๔๐๐ ปี จนมาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๔ ระหว่าง พ.ศ. ๒๓๙๔-๒๓๙๙ จึงได้มีผู้ก่อสร้างวัดขึ้นใหม่ในบริเวณที่ตั้งเดิม มีเนื้อที่ประมาณ ๒๘ ไร่เศษภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปประทาน มีนามพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ว่า “พระพุทธวชิรปราการ” มีความหมายว่า พระพุทธรูปประจำเมืองกำแพงเพชร นอกจากนี้ยังมี หอไตร ซึ่งตั้งอยู่กลางน้ำ ยกใต้ถุนสูงเป็นภูมิปัญญาของชาวพื้นเมืองที่จะรักษาพระไตรปิฎกไว้ มีเนื้อหากล่าวถึงหอไตรนี้ในพระราชนิพนธ์เสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หอไตรวัดคูยาง เป็นอาคารทรงไทยพื้นถิ่นกำแพงเพชร สร้างด้วยไม้ หลังคามุงกระเบื้องเกล็ด ใต้ถุนสูง กว้าง ๖ เมตร ยาว ๑๒ เมตร ตั้งอยู่กลาง คูน้ำเดิม ภายในอาคารเป็นโถงโล่ง โถงกลางมีเสากลมรองรับด้านละสามต้น หลังคาโถงกลางเป็นทรงจั่ว มีช่อฟ้าหางหงส์ทำด้วยปูนปั้น ประดับอยู่รอบจั่วทั้งสองด้าน มีหลังคาปีกนกคลุมฝาผนังทั้งสี่ด้าน ฝาผนังเป็นแบบฝาปะกน ฝาผนังด้านข้างมีหน้าต่างข้างละสี่ช่อง ฝาผนังด้านหน้าและหลังมีประตูด้านละหนึ่งช่อง และมีหน้าต่างด้านละสองช่อง มีพาไล (มุขที่มีชายคาคลุมและมีเสารองรับ) ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง พาไลเป็นชั้นลดลงมาจากโถง มีบันไดขนาดสามขั้นพาดขึ้นไปสู่โถงใน ทั้งด้านหน้าและหลัง เฉพาะพาไลด้านหน้ามีนอกชานยื่นออกไปตรงกลาง ใช้เป็นที่พาดบันไดขนาด ๗ ขั้น เชื่อมต่อกับสะพานไปยังพื้นดิน ภายในหอไตรแห่งนี้ มีโบราณศิลปวัตถุที่สำคัญ และทรงคุณค่ายิ่ง ประกอบไปด้วย ตู้พระธรรมลายรดน้ำลงรักปิดทองโดยรอบ เขียนเป็นภาพต่างๆ ด้วยฝีมือช่างราวสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ที่มีความประณีตงดงามมาก จำนวน ๕ หลัง หีบพระธรรม มีลายรดน้ำลงรักปิดทอง และเป็นแบบเหล็ก อยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ถึง ๕ ธรรมาสน์เท้าสิงห์ ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ ทำด้วยไม้ลงรักปิดทอง เป็นเครื่องสังเค็ด หรือ ทานวัตถุที่ถวายแด่สงฆ์เมื่อเวลาปลงศพหรือมีงานศพ เอกสารโบราณบรรจุอยู่ในตู้และหีบ มีทั้งที่เป็นใบลานและสมุดข่อย ผ้าห่อคัมภีร์ เป็นผ้าพิมพ์ลายอย่างลายไทย พระบฏ เป็นแผ่นผ้าฝ้ายสีขาว เขียนสีเป็นภาพเล่าเรื่องเวสสันดรชาดก จำนวน ๑๓ กัณฑ์ ใช้ในงานเทศกาลเทศน์มหาชาติกลางเดือน ๑๐ ของวัดคูยาง แต่ขณะนี้มีเหลืออยู่เพียง ๙ กัณฑ์เท่านั้น "หอไตรกลางน้ำวัดคูยาง" เมืองกำแพงเพชร อยู่คู่วัดคูยางแห่งนี้มาช้านาน อายุไม่ต่ำกว่า ๑๐๐ ปี ด้วยหลักฐาน ความสำคัญ และเหตุผลต่างๆ หอไตรวัดคูยาง จึงนับว่าเป็นโบราณสถานที่มีค่าที่สุดและมีเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในจังหวัดกำแพงเพชร สถานที่ตั้ง: ตั้งอยู่ ณ ๕๑ ราชดำเนิน ๑ ซอย ๒ตำบล ในเมือง อำเภอเมืองกำแพงเพชร กำแพงเพชร ๖๒๐๐๐ การเดินทาง: การเดินทางมายังวัดคูยางในเมืองกำแพงเพชรสำหรับคนที่ไม่เคยมา จากถนนพหลโยธินเข้าเมืองกำแพงเพชรข้ามสะพานแม่น้ำ ถึงวงเวียนลานโพธิ์ ให้เลี้ยวขวา ตรงนี้เรียกว่าถนนราชดำเนิน ๑ จะเห็นว่าเป็นวันเวย์ให้ตรงไปตามทางถึงวัดเทพโมฬีอยู่ขวามือ ให้ตรงไปอีก สี่แยกที่สองให้เลี้ยวซ้าย เรียกว่าถนนวิเชียร ผ่านหน้าวัดคูยางพอดี แต่ในกรณีของผม ผมแวะไหว้พระที่วัดเทพโมฬี แล้วขับตรงไปเรื่อยๆ จนถึงวัดบาง แวะเข้ากราบพระคู่บ้านคู่เมืองหลายองค์ในวัดบาง ได้แก่หลวงพ่อเพชร หลวงพ่อสุโขทัย ออกจากวัดบาง ย้อนกลับทางเดิมไม่ได้เพราะเป็นวันเวย์ ก็เลยเลี้ยวซ้ายเข้าถนนเจริญสุข เลี้ยวซ้ายอีกทีถนนวิจิตร ขับตรงมาตามทางจะถึงทางแยกหน้าวัดคูยางพอดี
สถานที่ใกล้เคียง: วัดเสด็จ (๕๑ เมตร) วัดเทพโมฬี (๕๑ เมตร) หลวงพ่อเพชร วัดบาง (๗๔ เมตร) สิริจิตอุทยาน (๙๙ เมตร) ศาลพระอิศวร (๑.๙๖ กม.) พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร (๒.๓๓ กม.) พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ (๒.๐๗ กม.) วัดพระแก้ว-พระธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร (๒.๗๗ กม.) ศาลหลักเมืองกำแพงเพชร (๓.๑๘ กม.) วัดพระบรมธาตุเจดียาราม (๓.๒๖ กม.)
ข้อมูลเพิ่มเติม: โทรศัพท์ ๐๕๕-๖๑๖-๘๘๒๐ วัดคูยาง สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดกำแพงเพชร โทร. ๐ ๕๕๗๐ ๕๑๗๗-๙ โทรสาร๐ ๕๕๗๐ ๕๑๗๘
เว็บไซต์ http://www.kpt.onab.go.th
ประชาสัมพันธ์จังหวัดโทรศัพท์ ๐๕๕-๗๐๕๕๐๑๑ , ๐๕๕-๗๐๕๕๐๗๐
ศูนย์ข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว ททท. สำนักงานสุโขทัย (สุโขทัย, กำแพงเพชร) โทรศัพท์ ๐๕๕-๖๑๖-๒๒๘-๙
เว็บไซต์ http://www.kamphaengphet.go.th
พิกัด GPS: 16.477486, 99.529370